วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อสอบ


ข้อสอบปลายภาค

คำสั่งข้อสอบมีทั้งหมด 7  ข้อ ให้นักศึกษาทำทุกข้อ ห้ามลอกกันเขียนคำตอบโดยใช้สำนวนเหมือนกันถือว่ามิใช่ความคิดของนักศึกษาเอง ปรับให้ตกทั้งคู่ ข้อละ 10 คะแนน

1. กฎหมายทั่วไปกับกฎหมายการศึกษา มีที่มาความเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร อธิบายพร้อมทั้ง      ยกตัวอย่างประกอบอย่างย่อ ๆ ให้ได้ใจความพอเข้าใจ

ตอบ   คำว่าที่มาของกฎหมาย นักกฎหมายหลายท่านให้ความหมายไว้แตกต่างกัน บางท่านหมายถึงแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมาย บางท่านหมายความถึงแหล่งที่จะค้นพบกฎหมาย หรือบางท่านอาจหมายความถึงศาลหรือผู้ที่จะนำกฎหมายไปปรับใช้กับคดีที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่านักกฎหมายจะมีความเห็นแตกต่างกันออกไป แต่ที่มาของกฎหมายโดยทั่วไปแล้วมีความใกล้เคียงกัน โดยพิจารณาถึงที่มาของกฎหมายหลักสองระบบคือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร และระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
                กฎหมายทั่วไปกับกฎหมายการศึกษาจึงมีที่มาและมีความเหมือนกันคือ ทั้งสองเป็นระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร และระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การชกมวยบนเวที ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกติกา ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่มีความผิดนั่น แต่หากไม่ทำตามกติกาอาจจะพกอาวุธต่างๆในการชกมวย และทำให้คู่ต่อสู้เสียชีวิต นั่นถือว่าผิด ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย และการที่คุณครูว่ากล่าวตักเตือนนักเรียน ซึ่งเป็นการอบรมสั่งสอน และใช้วาจากริยาท่าทางที่สุภาพ ไม่พูดคำหยาบ หรือไม่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจทำให้นักเรียนไม่พอใจ นั่นถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าหากมีคุณครูคนหนึ่งตีนักเรียนจนเลือดออกหรือได้รับบาดเจ็บ นั่นถือว่าผิด และได้รับโทษตามกฎหมายต่อไป

2. รัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการศึกษา มีสาระหลักที่สำคัญอย่างไร ในประเด็นอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับ       การศึกษา ยกตัวอย่างประกอบ พอเข้าใจ (รัฐธรรมนูญตั้งแต่แต่ฉบับแรกถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2550)
ตอบ  
รัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง 2 มาตรา คือ
มาตรา 43    บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติ การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 81    รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุน ให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ  ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้อง กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ
       จะเห็นได้ว่า มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ฉบับเดียวที่ระบุให้มีกฏหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ(มาตรา 81) ซึ่งมีผลทำให้เกิด พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกฏหมายการศึกษาอื่นอีกหลายฉบับ ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญของเมืองไทยยุคหนึ่ง
               รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550  ก็มีสาระที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ระบุเอาไว้ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา มี 2 มาตรา คือ
       มาตรา 49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ
      มาตรา50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
      นอกจากนี้ยังมีสาระที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแทรกอยู่ในส่วนต่างๆอีกหลายส่วน

3. พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ มีกี่มาตรา และมีความสำคัญอย่างไร และประเด็นหรือมาตราใดที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติและต้องยึดถือปฏิบัติ 
ตอบ    พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับมีทั้งหมด 20 มาตรา และมีความสำคัญพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และประเด็นและมาตราที่ผู้ปกครองต้องปฎิบัติและยึดถือปฎิบัติ คือ
มาตรา  4  ในพระราชบัญญัตินี้ ผู้ปกครอง  หมายความว่า  บิดามารดา  หรือบิดา  หรือมารดา  ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และหมายความรวมถึงบุคคลที่เด็กอยู่ด้วยเป็นประจำหรือที่เด็กอยู่รับใช้การงาน
มาตรา  5  ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วแต่กรณี  ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา  และการจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาต่อระหว่างสถานศึกษาที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับโดยให้ปิดประกาศไว้    สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และสถานศึกษา  รวมทั้งต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ปกครองของเด็กทราบก่อนเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
มาตรา  6  ให้ผู้ปกครองส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาเมื่อผู้ปกครองร้องขอ  ให้สถานศึกษามีอำนาจผ่อนผันให้เด็กเข้าเรียนก่อนหรือหลังอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับได้  ทั้งนี้  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
มาตรา  11  ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้ปกครอง  มีเด็กซึ่งไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาอาศัยอยู่ด้วย  ต้องแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วแต่กรณี  ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เด็กมาอาศัยอยู่  เว้นแต่ผู้ปกครองได้อาศัยอยู่ด้วยกับผู้นั้น
                การแจ้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา  13  ผู้ปกครองที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

4. ท่านเข้าใจว่า หากมีใครเข้ามาปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่เปิดการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรณีสอนทั้งปีที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น สามารถมาปฏิบัติการสอนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้มีความผิดหรือบทกำหนดโทษอย่างไร  ถ้าได้จะต้องกระทำอย่างไรมิให้ผิด ตามพระราชบัญญัตินี้
ตอบ   ข้าพเจ้าเข้าใจว่า หากมีใครเข้ามาปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่เปิดการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรณีสอนทั้งปีที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น สามารถมาปฏิบัติการสอนได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุรุสภา
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๖  กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิ หรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากคุรุสภา และห้ามมิให้สถานศึกษารับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุรุสภา
          เนื่องจากเหตุผลและความจำเป็นของสถานศึกษาในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งต้องใช้บุคคลเข้าประกอบวิชาชีพ เพื่อจัดการเรียนการสอนด้วยเหตุที่ไม่สามารถสรรหาผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้ามาดำเนินการสอนได้  คณะกรรมการคุรุสภาในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๗  เมื่อวันที่ ๓๐  มกราคม  ๒๕๕๗  และครั้งที่     ๒/๒๕๕๗ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มีมติอนุญาตให้บุคคลเข้าประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาต ดังนี้
คุณสมบัติการพิจารณาอนุญาต
            ผู้ที่จะขอเข้าประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
           ๑. มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี
           ๒. มีคุณวุฒิตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
              (๑) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า
              (๒) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี  ที่ ก.ค.ศ.รับรอง  ซึ่งกำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู  และเป็นวุฒิปริญญาในสาขาที่สอดคล้องกับระดับชั้นที่เข้าสอน ตามที่คุรุสภากำหนด ยกเว้นโรงเรียนในพระราชดำริ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนโครงการพิเศษต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานต้นสังกัด และมีคะแนนเฉลี่ย ๒.๕ ขึ้นไป โรงเรียนถิ่นทุรกันดาร หรือโรงเรียนเสี่ยงภัย ตามประกาศของทางราชการ และจัดให้มีการอบรมในเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนเบื้องต้นด้วย
          ๓. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖
เงื่อนไขการอนุญาต
          ๑. สถานศึกษาชี้แจงเหตุผลความจำเป็น หรือความขาดแคลน ต้องรับบุคคลเข้าประกอบวิชาชีพครู  
          ๒. สถานศึกษาจะต้องแนบประกาศการรับสมัครและการสรรหาบุคคลเข้าประกอบวิชาชีพครู
          ๓.  สถานศึกษาจะต้องแนบคำสั่งของคณะกรรมการของสถานศึกษาในการคัดเลือกบุคคลเข้าประกอบชาชีพครู
            ๔. สถานศึกษาต้องขออนุญาตเป็นการเฉพาะราย ผ่านต้นสังกัด โดยจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตเท่านั้น ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารสถานศึกษา
           ๕. ระยะเวลาการอนุญาตครั้งละไม่เกิน ๒ ปี และต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อไป
          ๖. หากผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ฝ่าฝืนจรรยาบรรณของวิชาชีพ หรือปฏิบัติการสอนผิดเงื่อนไข หรือไม่สามารถพัฒนาตนเองตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการอนุญาต การอนุญาตดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุด
มติคณะกรรมการคุรุสภาครั้งที่ ๘/๒๕๕๗ วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ และครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๗ วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ขออนุญาตฯ ครั้งที่ ๒ และครั้ง ๓ ได้อีกไม่เกิน ๒ ปี  แต่จะต้องพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

5. สมบัติ เป็นครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ประพฤติผิดกระทำทารุณกรรมต่อเด็กหรือเยาวชน หากเราพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  จะต้องทำอย่างไร และมีบทลงโทษอย่างไร
ตอบ    จากการที่สมบัติเป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง และได้ประพฤติกรทำทารุณกรรมต่อเด็กหรือเยาวชน หากเราพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  สำหรับข้าพเจ้าการทารุณกรรมในที่นี่หมายถึงการลงโทษนักเรียนของครู และการลงโทษนักเรียนของครูก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังสำหรับครูทุกท่านในการลงโทษนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอน ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ห้ามมิให้ลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือกลั่นแกล้ง หรือด้วยความโกรธหรือความพยาบาท โดยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ซึ่งระเบียบนี้ กำหนดการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาไว้ ๔ สถาน ดังนี้
(๑) ว่ากล่าวตักเตือน
(๒) ทำทัณฑ์บน
(๓) ตัดคะแนนความประพฤติ
(๔) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่ยังมีเรื่องร้องเรียนครูลงโทษด้วยวิธีรุนแรง เช่น ตบหน้า ตบหัว เอาสันไม้บรรทัดตีหัว หยิก ใช้ไม้ตีขา น่อง ก้น อย่างรุนแรงจนเกิดรอยบวมช้ำเลือด เอารองเท้าครูตบหน้า หรือใช้มือชกไปที่ท้องของนักเรียน หรือสั่งลงโทษโดยให้วิ่งรอบสนามกลางแดดหลายรอบ จนเด็กเป็นลมหมดสติไป เป็นต้น การการกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวทั้งสิ้น มีความผิดทางวินัยข้าราชการแล้ว ผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพครู และยังเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาในข้อหาทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้อื่นด้วย น้อยที่สุดคือข้อหาใช้กำลังทำร้ายแรงผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แม้จะเป็นความผิดลหุโทษแต่ก็เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ไม่อาจยอมความได้ เว้นแต่ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาเรื่อง ไม่แจ้งความ ก็จะไม่มีการดำเนินคดีอาญา แต่ใช่ว่าจะพ้นผิดไปเลย เพราะการกระทำความผิดอาญามีอายุความจะแจ้งเมื่อไรภายในอายุความก็ได้ หากผิดเลยไปถึงข้อหาทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อาจโดนลงโทษจำคุกและปรับหนักขึ้น ซึ่งก็มีครูเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจากกรณีตบหน้าและชกท้องเพียงแต่ศาลปราณีให้รอการลงโทษไว้ ซึ่งหากไม่รอการลงโทษก็จะถูกจำคุกจริง ผิดวินัยในข้อหากระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อาจถูกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ และผู้ปกครองนักเรียนยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ด้วย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้วิธีลงโทษอย่างรุนแรง ควรใช้วิธีอื่น แต่อย่าปล่อยปละละเลยไม่สนใจนักเรียนเลย โดยอ้างว่าตีก็ไม่ได้หาว่ารุนแรง ก็ไม่ต้องตีไม่ต้องเตือนและไม่สนใจเด็กนักเรียนคนนั้นเลย หากครูทำอย่างนี้ก็จะมีความผิดวินัยอีกเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นการทอดทิ้งหน้าที่ความเป็นครู ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความวิริยะอุตสาหะ ดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของครู ซึ่งครูจะต้องอบรมสั่งสอนให้นักเรียนมีความรู้มีคุณธรรมและสิ่งอื่นที่จำเป็นเพื่อวันหนึ่งจะได้เป็นแกนหลักของประเทศชาติในอนาคตต่อไป อย่างน้อยที่สุดให้อยู่ได้ในสังคม หรือให้เป็นคนดีในสังคมให้ได้ หรือให้เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

6. ช่วงที่นักศึกษาไปทดลองสอนที่โรงเรียนเทอม 2  และในเทอมต่อไป นักศึกษาเข้าไปทดลองสอนจริง นักศึกษาคิดว่าจะนำกฎหมายการศึกษาไปใช้โดยกำหนดคนละ 2 ประเด็นที่คิดว่าจะนำกฎหมาย   ไปใช้ได้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ตอบ   ช่วงที่นักศึกษาไปทดลองสอนที่โรงเรียนเทอม 2  และในเทอมต่อไป นักศึกษาเข้าไปทดลองสอนจริง นักศึกษาคิดว่าจะนำกฎหมายการศึกษาไปใช้โดยกำหนดคนละ 2 ประเด็น ที่คิดว่าจะนำกฎหมาย   ไปใช้ได้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
กฎหมายว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงวางระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาไว้ดังต่อไปนี้
 ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษา พ.ศ. 2543
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษาหมายความว่า ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ อธิการบดี หรือหัวหน้าของโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือตำแหน่งที่เรียก ชื่ออย่างอื่นของโรงเรียนหรือสถานศึกษานั้น
กระทำความผิดหมายความว่า การที่นักเรียนหรือนักศึกษาประพฤติฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับของสถานศึกษา หรือของกระทรวงศึกษาธิการ หรือกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา
การลงโทษหมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน
 ข้อ 5 โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี 4 สถานดังนี้
5.1 ว่ากล่าวตักเตือน
5.2 ทำทัณฑ์บน
5.3 ตัดคะแนนความประพฤติ
5.4 กิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
 ข้อ 6 ห้ามลงโทษนักเรียน และนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียน หรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย
 การลงโทษนักเรียน หรือนักศึกษาให้เป็นไป เพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียน หรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนใน ทางที่ดีต่อไป
 ให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษามอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษนักเรียน นักศึกษา
 ข้อ 7 การว่ากล่าวตักเตือนใช้ในกรณีนักเรียน หรือนักศึกษากระทำความผิด ไม่ร้ายแรง
 ข้อ 8 การทำทัณฑ์บนใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม กับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียน และนักศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ
 การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บนไว้ด้วย
 ข้อ 9 การตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการ ตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน
 ข้อ 10 ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียน และนักศึกษากระทำความผิดที่สมควร ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
 การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
 ข้อ 11 ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และ ให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

7. ให้นักศึกษาสะท้อนความคิดการใช้ เว็บบล็อก (weblog) ในการนำมาใช้จัดการเรียนการสอนวิชานี้   พอสังเขป
ตอบ  จากการที่ข้าพเจ้าได้ใช้เว็บบล็อก (weblog) ในการจัดการเรียนการสอนวิชานี้ ข้าพเจ้าคิดว่า การเรียนรู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ เป็นการเรียนการเรียนรู้ที่สะดวกสบาย เหมาะแก่การเรียนของนักศึกษาสมัยใหม่ อีกทั้งยังช่วยบันทึกการทำงานต่างๆ ของผู้เรียนโดยไม่ต้องใช้สมุดในการเรียน เพราะบางครั้งการใช้สมุดก็ไม่สามารถที่จะทำให้นักศึกษามีการกระตุ้นในการอยากที่จะศึกษาเล่าเรียน การใช้เว็บบล็อกในการศึกษา ถือเป็นการดีมาก ผลงานต่างๆ ที่เราได้ทำไว้ก็สามารถที่จะเก็บรวบรวมและเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจในเรื่องที่เรากำลังศึกษาได้อย่างเป็นหมวดหมู่และถูกระเบียบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น